
Artwork by QOTAROO

Artwork by QOTAROO
MEMORY JOURNEY
(การเดินทางแห่งความทรงจำ)
บันทึกความทรงจำ
Sister Calling (น้องสาวโทรมา)

ภาพถ่ายจากจอวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ปี 2019 บ้านคุณย่ามาลี จังหวักสกลนคร, ประเทศไทย
คุณย่ารวม (ด้านขวา) กำลังคุยกับคุณย่ามาลี (ด้านซ้าย) ผ่าน LINE video call จากโทรศัพท์ของผม ผมและมิโฮ เดินทางไปเที่ยวที่สกลนครและได้ไปหาคุณย่ามาลีที่บ้านของเธอ ผมไม่เคยไปสกลนครด้วยตัวเองเลยสักครั้งในชีวิต ปัจจุบันคุณย่ารวมอยู่ที่กรุงเทพ แต่จริงๆแล้วเธอเกิดและเติบโตที่สกลนครแล้วย้ายมากรุงเทพตอนปี 1959 กับสามีหรือปู่ของผมและลูกๆของเธอ หนึ่งในนั้นคือพ่อของผมด้วย บทสนทนาบางตอนนั้นพูดถึงความตั้งใจจะย้ายกลับไปอยู่สกลนคร โดยมีอาของผมร่วมสนทนาด้วยจากบ้านที่กรุงเทพ คุณย่ามาลีชวนคุณย่ารวมให้กลับมาอยู่สกลอีกครั้ง คุณย่ามาลีนั้นเป็นลูกสาวของพ่อย่ารวมกับภรรยาใหม่ที่มีเชื้อสายเวียดนามด้วย
คุณย่ารวมใช้ชีวิตอยู่ที่สกลนครตั้งแต่เธอเกิดในเดือนมิถุนา ปี 1931 ที่สถานีตำรวจเมืองสกลนคร เพราะพ่อของเธอเป็นผู้กำกับ ส.น. หนึ่งปีก่อนการอภิวัฒน์สยาม 1932 (2475) เธออยู่ที่สกลนครจนถึงปี 1959 ประมาณ 28 ปี ก่อนเธอจะย้ายมากรุงเทพ เธอมีความสุขมากในการเล่าเรื่องราวในวัยเด็กของเธอที่สกลนคร อย่างเช่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เธอหลบซ่อนจากลูกระเบิดจากเครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตรยังไง หรือ ตอนที่เธอโดดเรียนไปเล่นกับเพื่อนในเมือง หรือความทรงจำที่เธอได้พบเห็นคนไปรวมกันที่บ้านของเตียง สิริขันธ์ หัวหน้าของกลุ่มต่อต้านญี่ปุ่นหรือ ขบวนการเสรีไทย ในอีสาน ตอนเธอเดินผ่านบ้านของเขา
พอเธอโตขึ้นเธอก็อยู่ในยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เธอบอกว่าเธอชอบจอมพลคนนี้ เธอมักจะบรรยายถึงความเป็นเผด็จการที่ชื่นชอบ ใช้มาตรา 17 ในการแก้ไขปัญหาของชาติด้วยความเด็ดขาดรุนแรง อย่างเช่น การประหารคนในที่สาธารณะ หรือการสั่งประหารชีวิตเจ้าของบ้านที่บ้านไฟไหม้โดยไม่มีการฟังเหตุผลใดๆ ด้วยความที่จอมพลสฤษดิ์มองว่ามันเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของชาติ และรัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์ยังสนับสนุนนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ของอเมริกาในช่วงยุค 50s และ 60s รวมถึงการฟื้นฟูบทบาทของราชวงศ์ ทุกวันนี้เธอยังคงระแวงเรื่องไฟไหม้บ้าน เวลาเธอเห็นผมจะทำกับข้าวก็มักจะมาห้ามเพราะกลัวไฟจะไหม้บ้าน อีกเรื่องที่เธอมักจะเล่าด้วยความภาคภูมิใจก็คือสามีของเธอคือผู้อำนวยการคนแรกของสถานีเพาะพันธุ์สัตว์น้ำในสกลนครและมีโอกาสได้ต้อนรับบุคคลสำคัญในประเทศอย่าง จอมพล ป., จอมพลสฤษดิ์และ รัชกาลที่ 9 เวลาที่เดินทางมาที่สกลนคร ในช่วงยุค 40s และ 50s
ตอนเธออายุ 8 ขวบ ตอนปี 1939 (ประมาณ 80 ปีที่แล้ว) พ่อของเธอเลิกกับแม่ของเธอ แล้วย้ายไปที่สถานีตำรวจนครพนมกับภรรยาใหม่ แล้วก็ให้กำเนิดคุณย่ามาลีน้องต่างแม่ของเธอ ตอนนั้นมะรวมอยู่ ป.2 เป็นครั้งแรกที่เธอเริ่มได้ยินประกาศจากวิทยุแห่งชาติว่าด้วยชื่อทางการใหม่ของดินแดนนี้ ชื่อว่า “ประเทศไทย” หรือ “ไทยแลนด์” แทนชื่อ “สยาม” เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ปี 1939 เมื่อวิทยุแห่งชาติเปิดเพลงชาติในสถานที่สาธารณะผู้คนก็เริ่มหยุดกิจกรรมต่างๆและยืนนิ่งเพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อชาติตามรัฐนิยม ในช่วงเวลานั้นจอมพล ป. กำลังเข้าร่วมกับจักรวรรดิญี่ปุ่นและฝ่ายอักษะในสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งก็มีการประยุกต์เอารูปแบบลัทธิชาตินิยมของนาซีและฟาสซิสต์มาปรับใช้กับไทยด้วย
คุณย่ารวมอยู่กับแม่ของเธอที่สกลนครแต่ก็ไปเยี่ยมเยียนพ่อบ้างที่นครพนม คุณย่ารวมและคุณย่ามาลีก็เลยได้เจอกันบ้าง คุณย่ารวมเล่าให้ฟังถึงตอนที่เธอเอาขนมไปขายเพื่อหาเงินในช่วงที่เรียน แถวๆด้านหน้าสถานีตำรวจนครพนม เธอมักจะเห็นรถวิ่งไปมาอีกฝั่งของแม่น้ำโขงหน้าสถานีตำรวจ ตอนนั้นเป็นช่วงที่จักรวรรดิ์ฝรั่งเศสพยายามอพยพคนเวียดนามมาที่ท่าแขก ประเทศลาว เธอมักจะบอกว่าแม่ของเธอมีอารมณ์ขึ้นๆลงๆ และพ่อของเธอเป็นคนที่ใจดี ส่วนคุณย่ามาลีนั้นแต่งงานและย้ายตามสามีมาที่สกลนคร
Best Friend (เพื่อนแท้)

ภาพถ่ายเมื่อ 8 ตุลาคม ปี 2017 ปากห้วยปีวอ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี จังหวัดราชบุรี
พี่ศรี (ซ้าย) และพี่ก้าว (ด้านขวา) กำลังตรวจดูแผนที่ พวกเขาคือเจ้าหน้าที่ป่าไม้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี จังหวัดราชบุรี ที่คอยดูแลเราในป่า พี่ศรีอยู่ประจำหน่วยพิทักษ์ป่าแอ่งกะลา ขณะที่พี่ก้าวประจำอยู่หน่วยหนองตาดั้ง ผมและช่างภาพไปตั้งแคมป์อยู่ที่ปากห้วยที่มีชื่อว่า “ปีวอ” เพื่อทำการบันทึกเสียงและภาพเคลื่อนไหวไปใช้กับโปรเจคของผม ผมสันนิษฐาณว่าแม่น้ำภาชีในประเทศไทยเชื่อมต่อกับแม่น้ำอิรวะดีในประเทศพม่าผ่านบางห้วยในบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งนี้ซึ่งติดกับชายแดนไทย-พม่า มนุษย์ได้ข้ามไปมาระหว่างสองพื้นที่อย่างเป็นอิสระ ก่อนที่สยาม (ก่อนจะเป็นประเทศไทย) และ พม่าในการปกครองของอังกฤษจะทำข้อตกลงในการปักปันดินแดนในปี 1868
พี่ศรีและพี่ก้าวบางครั้งก็มีบทสนทนาที่พูดในภาษากะเหรี่ยงเพราะว่าทั้งสองต่างมีเชื้อสายของชาวกะเหรี่ยง ซึ่งแต่เดิมตั้งรกรากอยู่บนภูเขาที่เป็นรอยต่อของชายแดนไทย-พม่า พอตกกลางคืน เราก็ทานมื้อเย็นร่วมกัน และมีการสนทนาเกี่ยวกับชีวิตของพวกเขา ก่อนที่เราจะสามารถทานมื้อเย็นกันได้ เราพยายามจุดไฟเพื่อปรุงอาหารแต่ด้วยความชื้นทำให้จุดได้ยากมาก เราจึงต้องพยายามอย่างหนักในการเป่าลม หรือหาอะไรมาพัดให้มีลมเพื่อเพิ่มโอกาสของการจุดไฟให้ติดด้วย พี่ศรีได้เอาเหล้าขาวมาด้วย ซึ่งเขาจะใช้จิบเล็กน้อยเพื่อความผ่อนคลาย และด้วยความเชื่อว่าการดื่มแอลกอฮอลล์นั้นจะเป็นการแสดงความเคารพต่อเจ้าป่าเจ้าเขาด้วย ในระหว่างการสนทนาพี่ก้าวได้ยินเสียงฟ้าร้องดังมาไกลๆ พี่ก้าวเปรียบเทียบเสียงของฟ้าร้องในแต่ละครั้งที่เขาได้ยิน แล้วระบุถึงตำแหน่งของทิศทางลมและพยากรณ์คร่าวๆว่าฝนจะตกไม่หนักมากในบริเวณที่เราอยู่ แต่จะไปหนักมากหน่อยในตัวเมือง ดังนั้นไม่ต้องเป็นกังวลมากในการข้ามแม่น้ำกลับไปอีกฝั่งในวันรุ่งขึ้น
พี่ศรีและพี่ก้าวยังแสดงความคิดเห็นถึงความไม่เป็นธรรมบางอย่างที่เกิดขึ้นในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พี่ก้าวเกือบจะออกจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแล้วแต่พี่ศรีได้หยุดยั้งเขาไว้ และบอกพี่ก้าวให้อยู่ต่อในฐานะเพื่อนที่ดีของพี่ศรีคนหนึ่ง พี่ก้าวรู้สึกผิดหวังที่หัวหน้าเขาพูดบางอย่างที่ไม่ดีเท่าไหร่ต่อเขาและครอบครัวเขาหลังจากที่ทำงานมาอย่างหนักและเหน็ดเหนื่อย อีกทั้งค่าแรงก็ต่ำและขาดโอกาสทางการเงินซึ่งเขาต้องอดทนอยู่กับมัน พี่ศรีบอกกับผมว่าพี่ก้าวนั้นเป็นคนที่ฉลาดมากและยังมีความรู้ด้านอุปกรณ์อิเล็กโทรนิกที่ดี สำหรับพี่ศรีแล้วพี่ก้าวคือเพื่อนแท้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งนี้ พวกเขายังพูดถึงพี่เสือ เจ้าหน้าที่ป่าไม้แห่งหน่วยสวนผึ้ง ในฐานะของพี่ชายที่จริงใจมากๆคนหนึ่ง พวกเขาบอกว่าพี่เสือจะพูดอย่างตรงไปตรงมาทันทีถ้ามีอะไรไม่เข้าท่าเกิดขึ้น แม้แต่กับหัวหน้าเขต พี่ศรียังบอกอีกว่าเขาเป็นกะเหรี่ยงคนเดียวในหน่วยของเขา บางครั้งก็มักจะถูกจับผิดจากคนอื่นๆในหน่วย และบางครั้งก็รู้สึกผิดหวังที่หัวหน้าหน่วยพูดไม่ดีใส่แม้ว่าจะเดินลาดตระเวนอย่างหนักในป่าก็ตาม
ฝนได้เทลงมาขณะที่ทุกคนกำลังนอนหลับ พี่ก้าวจะคอยเดินไปที่แม่น้ำภาชีใกล้ๆที่เรานอนเพื่อคอยตรวจสอบระดับน้ำในแม่น้ำที่เราข้ามมาตั้งแคมป์ เพื่อให้แน่ใจว่าเราจะสามารถข้ามกลับไปได้ในวันรุ่งขึ้น พี่ก้าวตรวจสอบจากรอยที่ทำไว้บนกิ่งไม้ที่เขาปักไว้ในแม่น้ำ ถ้าเกิดว่าปริมาณน้ำนั้นสูงเกินไปเราจำเป็นต้องข้ามกลับทันที ไม่อย่างนั้นอาจจะข้ามกลับไปไม่ได้ในวันถัดไปและต้องรอมากกว่าหนึ่งวันให้ระดับน้ำลดลงเพื่อข้ามกลับไป
หลังจากที่เราตื่นขึ้นในยามเช้าตรู่ เราก็ไปบันทึกเสียงและวิดิโอกัน พี่ก้าวเล่าให้ฟังถึงที่มาของชื่อห้วย “ปีวอ” เขาบอกว่าภูเขาแถวนี้มีชาวเขาอาศัยอยู่ โดยเฉพาะชาวกะเหรี่ยงที่อพยพหนีรัฐบาลพม่ามา ซึ่งอาศัยอยู่บนเขาจนกระทั่งทหารไทยไปย้ายพวกเขาลงมาข้างล่างเมื่อราวๆยุค 80 แล้วก็ต้องมายืนยันตัวตนกับรัฐบาลไทย พวกเขาปลูกข้าวในไร่ชื่อข้าว “อีวอก” แล้วเจ้าหน้าที่น่าจะฟังผิด ได้ยินชาวเขาแถวนี้พูดว่า “ปีวอพาด” ในบริเวณแถวๆนี้ ก็เลยเขียนชื่อลงในแผนที่ว่าห้วยปีวอ แล้วเราก็ไปที่แม่น้ำภาชีเพื่อข้ามกลับ โชคดีหน่อยว่าระดับน้ำนั้นลดต่ำลงและเราก็สามารถข้ามกลับไปได้ไม่ยากนัก
For Sale (เพื่อการขาย)

รถยนต์รุ่นใหม่มาอีกแล้วจากภาพถ่ายหน้าจอ งานประจำของผมคือนักแต่งเพลงและวิศวกรเสียงที่บริษัททำเพลงและเสียงประกอบสื่อแห่งหนึ่งในกรุงเทพ สินค้าและแบรนด์ต่างๆ มาทำเพลงและเสียงกันที่นี่ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ประเภทยานยนต์ ผมทำงานกับบริษัทมาได้สี่ปีแล้ว และได้เห็นวิธีการทำงานส่วนหนึ่งในวงการโฆษณาไทย ปัญหาการทำงานต่างๆภายในระหว่างทีม House Production, เอเจนซี่, ลูกค้าโปรดัก และทีมทำเพลงและเสียงของเรา การถกเถียงและความคิดเห็นที่แตกต่างกันทำให้สื่อที่นำเสนอออกไปมีความแตกต่างไปในแต่ละงาน
ในแทบทุกครั้ง งานการทำเพลงประกอบมักจะถูกเลือก references มาจากเอเจนซี่และ house production เพื่อมานำเสนอกับลูกค้าโปรดัก สตูดิโอที่ผมทำงานด้วยนั้นมักจะมีภาพจำของสไตล์เพลงที่มักจะถูกมองไปในทิศทางแบบ “เท่ห์ๆ” ในหลายๆครั้งก็รู้สึกว่าการที่พยายามจะให้ออกมาเท่ห์จนเกินไปก็มีผลลัพธ์ออกมาตลกได้เหมือนกัน สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งก็คือจะทำอย่างไรให้ลูกค้าพึงพอใจโดยที่มีความ original และไม่ไปติดปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์จากเพลง reference ที่เลือกมา เมื่อถึงจุดหนึ่งผมก็ตระหนักได้ว่าเพลงอะไรก็เป็นเพลงประกอบโฆษณาได้หมด การที่จะแยกเพลงโฆษณาออกจากเพลงที่ไม่ใช่เพลงโฆษณา บางทีอาจจะแยกมันจากความตั้งใจและทัศนคติในการทำเพลงๆหนึ่งขึ้นมามากกว่า
มีอยู่หลายครั้ง ผู้กำกับหนัง และทีมที่ทำงานไม่สามารถบรรลุตามความต้องการของลูกค้า พี่ที่ควบคุมทิศทางงาน ผมและทีมต้องมีการพูดคุยกันว่าทำยังไงถึงจะแก้ไขให้ลูกค้าพึงพอใจได้ ง่ายๆคือเราจะปรับเปลี่ยนเพลงยังไงโดยที่ใช้เวลาให้น้อยที่สุด ในตอนนั้นให้ความรู้สึกเหมือนตกอยู่ในสภาวะแสดงสดโดยจำยอม ลูกค้ารอฟังอยู่ และพอต้องปรับเพลงตอนขายงาน ก็จะมีบรรยากาศกดดันเล็กน้อย บางครั้งก็ยากที่จะหลีกเลี่ยงความผิดพลาด
ลูกค้าที่ทำกับเราส่วนใหญ่จะไม่ได้มีความรู้ด้านเสียงหรือดนตรี ในหลายๆครั้งก็ต้องแปลสิ่งที่เขาต้องการสื่อสารเพื่อปรับดนตรีของเรา อย่างเช่น ลูกค้าบางคนต้องการเสียง ”ซึดซึดซึด” ให้เบาลง เราก็ต้องหาให้เจอว่า อะไรคือเสียง “ซึดซึดซึด” ที่ว่า? แล้วเราจะลดมันลงได้ไหม? บางทีอาจจะเป็นเสียง topper? หรือว่าเสียง Hi-Hat? หรือลูกค้าบางคนอาจจะรู้สึกว่าตรงช่วงนี้ของหนังยังไม่รู้สึก “แรง” พอ เราก็ต้องมาดูว่าจะทำยังไงให้เพลงช่วงนี้มัน “แรง” จะเป็นเสียงเอฟเฟคกระแทกหรือเปล่า? หรือว่าเสียงเครื่องเคาะแรงๆ? หรือว่าเป็นเรื่องของการบาลานส์เสียงและการปรับแต่งย่านเสียง? เราต้องฟังพวกเขาอย่างมีสติและถอดรหัสคำพูดของพวกเขาออกมา บางครั้งเราก็แปลไม่ตรงตามความต้องการของเขา แล้วเราก็ต้องกลับมาพูดคุยกันในทีม ปรับอีก แล้วก็ตรวจเชคกับลูกค้าที่นั่งรอเราอยู่ในห้อง อย่างการทำงานกับเสียงเอฟเฟคที่เป็นนามธรรมต่างๆ เขาจะทำเสียงสื่อสารกับเราหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็น “ซึดซึดซึด” “ตูมมมม” “ชู่ววววว” “ผ่ามมมม” อะไรก็ตามแต่ ซึ่งไม่ใช่แต่ลูกค้าแม้แต่ในทีมเรากันเองก็สื่อสารด้วยเสียงแบบนี้ เวลานึกถึงก็รู้สึกตลกดีเวลาที่นึกย้อนกลับไป
สื่อที่เราทำด้วยมักจะเผยแพร่ทางออนไลน์ แล้วก็ตามจอโฆษณาใหญ่ๆในเมือง หรือว่าในจอโฆษณาบนรถไฟฟ้า ในทีวี หรือในห้างต่างๆในประเทศไทย หลายๆงานเสียงก็จะไปออกกับลำโพงเล็กๆ เราก็ต้องมาตรวจเชคเสียงของเราก่อนเผยแพร่ด้วยการจำลองเสียงลำโพงเล็กด้วย
โฆษณาบางตัวก็เป็นสินค้าเกี่ยวกับความสวยความงามซึ่งมักจะนำเสนอว่าผิวขาวคือผิวที่ดีทั้งชายและหญิง ที่น่าสนใจคือไม่ใช่แค่ในไทย มีลูกค้าโปรดัคจากสินค้าด้านความสวยความงามนี้ทั้งจาก พม่า กัมพูชา เวียดนาม หรืออินโดนีเซียด้วย แล้วก็ใช้ Production House ในไทย สำหรับการผลิตสื่อโฆษณา ผลิตภัณฑ์จากแบรนด์ที่มีชื่อเสียงจากยุโรปตะวันตก ก็ต้องใช้ทีมการตลาดในไทย พรีเซนเตอร์ที่ใช้ก็มักจะเป็นคนไทยเชื้อสายเอเชียตะวันออก หรือลูกครึ่งไทยตะวันตกที่มีผิวขาว บางครั้งก็มีสโลแกนเช่น “สวยเหมือนสาวเกาหลี” หรือ “สาวญี่ปุ่น” ในส่วนของเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ ประเทศไทยมีกฎหมายห้ามแสดงสินค้าแอลกอฮอลล์บนสื่อโฆษณาตั้งแต่ประมาณปี 2008 ดังนั้นแบรนด์ที่ขายเครื่องดื่มเหล่านี้เป็นหลัก ก็จะต้องหาเทคนิคการนำเสนอแบรนด์เหล่านี้โดยไม่มีสินค้าแอลกอฮอลล์แสดงให้เห็น
Rest (พัก)

ภาพถ่ายเมื่อ 4 มกราคม ปี 2019 ร้าน Baby Come Home แม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
ร้านอาหารและคาเฟ่ชื่อ Baby Come Home ที่แม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ดำเนินการโดย “พี่เด๋อ” และ “พี่เดียร์” ซึ่งมาจากกรุงเทพ แต่ได้ตัดสินใจซื้อบ้านหลังใหม่ในแม่ริม และเปิดคาเฟ่ในบ้านตัวเอง และทำเต๊นสไตล์ Tipi สำหรับให้คนมาเช่าอยู่ผ่าน Airbnb
ผมเดินทางขึ้นไปทางเหนือกับมิโฮเพื่อพักผ่อนจากกรุงเทพในช่วงปีใหม่ และได้ไปเจอเพื่อนที่ปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน และ แม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นครั้งแรกที่ผมไปเยือนแม่ริม เป็นพื้นที่น่าสนใจ เราเช่ามอเตอร์ไซด์สกู๊ตเตอร์จากในตัวเมืองเชียงใหม่และขับไปที่ Baby Come Home เจ้าของได้แรงบันดาลใจของชื่อมาจากเพลงจากศิลปินชื่อ Mark Barrott เจ้าพ่อเพลงยามอาทิตย์อัสดง เราจะพักอยู่หนึ่งคืนในเต๊น Airbnb ของพวกเขา เป็นที่ที่น่าอยู่จริงๆ หลังจากเรามาถึง พี่เด๋อก็ขับสกู๊ตเตอร์ของเขานำทางไปดูพื้นที่รอบๆแม่ริม เราก็ขับตามไป เราได้พบเห็นพื้นที่สวยๆมากมายท่ามกลางภูเขาและหมู่บ้าน ผมเห็นบ้านของคนมีฐานะที่น่าจะสร้างเสร็จได้ไม่นานอยู่แถวๆนี้ด้วย ซึ่งสร้างความรู้สึกตัดกันกับบ้านของชาวบ้านโดยทั่วไปในบริเวณเดียวกัน
ด้วยความที่เป็นที่ดินที่มีความสวยงาม พี่เด๋อบอกผมว่าทหารหน่วยที่ประจำอยู่แม่ริมก็อยากได้ที่ดินจากหมู่บ้านในบริเวณรอบๆแม่ริมเพื่อทำบ้านทำรีสอร์ทด้วย และบอกว่าที่ดินตรงนั้นเป็นของทหารไม่ใช่ของชาวบ้านซึ่งสามารถเวนคืนเมื่อไหร่ก็ได้ ดังนั้นก็เลยมีปัญหากันอยู่ระหว่างชาวบ้านกับกองทัพไทยในแม่ริม เลยทำให้นึกถึงหนังสั้นของพี่เจ้ย (อภิชาติพงศ์ วีรเศรษฐกุล) ชื่อหมอกแม่ริม (Vapour) ซึ่งผมเคยไปเล่นดนตรีสดประกอบหนังสั้นเรื่องนี้รอบเปิดตัวที่เทศกาลภาพยนตร์ Busan ครั้งที่ 20 ตอนที่ผมทำงานร่วมกับพี่เจ้ย พี่เจ้ยก็เล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของหนังสั้นเรื่องนี้ซึ่งมีส่วนเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งในพื้นที่ของคนในหมู่บ้านทุ่งห้ากับกองทัพด้วย เพราะพี่เจ้ยเองก็มีบ้านอยู่ที่แม่ริม
จากนั้นเราก็ไปเจอพี่ทรายเพื่อนของเรา พี่ทรายเคยแสดงหนังยาวเรื่องแรกของผู้กำกับเต๋อ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ พี่ทรายก็อยู่ในแม่ริม ตอนเย็นเราก็ออกไปทานข้าวเหนียวหมูทอดที่ร้านแห่งหนึ่งในแม่ริม ซึ่งมีทีเด็ดที่น้ำจิ้มทำเองของทางร้านด้วย เรามีความสุขกับการกินมาก หลังจากมื้อเย็น ตอนกลางคืน เราก็ไปที่งานเทศกาลฤดูหนาว มุ่งหน้าไปทางถนนทางเข้าเมือง มีผู้คนมากมายเข้าร่วมงาน ผมเห็นคนไทย ชาวเขา รวมถึงชาวพม่าในเทศกาลด้วย หลายๆร้านมีภาษาพม่าเขียนบนป้ายของร้านรวง
เพื่อนๆของเราก็แนะนำให้ผมและมิโฮไปดูรถไต่ถังหรือ Wall of Death ซึ่งเป็นโชว์กายกรรมโดยมีสตั๊นแมนขับมอเตอร์ไซต์กับรถกระบะไต่ไปตามผนัง ถูกออกแบบให้คล้ายๆถังขนาดใหญ่ ก่อนเริ่ม คนขับทั้งสองคนสวดบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก่อนการแสดง มิโฮรู้สึกไม่มั่นใจในความปลอดภัยของคนแสดงและผู้ชมเท่าไหร่ มิโฮเลยรู้สึกไม่ค่อยสบายใจเล็กน้อย หลังจากดูมอเตอร์ไซต์ไต่ถัง เราก็ไปเดินรอบๆพื้นที่งาน จากส่วนที่เป็นสวนสนุก ผมเห็นพี่เด๋อกำลังสนุกกับการเล่นรถบั๊ม แล้วเราก็ไปโซนตลาด แล้วก็ไปโซนเกมส์ชิงรางวัล ลอตเตอรี่ ก่อนที่เราจะตัดสินใจกลับไปที่ Baby Come Home พูดคุยผ่อนคลายในเต๊น Tipi ก่อนที่เพื่อนๆของเราจะแยกย้ายกันไปนอน
Transcendence (ข้ามผ่าน)

ภาพถ่ายเมื่อ 29 เมษายน 2018 บ้าน Joanna, Sausalito, California
มิโฮ (ทางซ้าย) และ Joanna (โจแอนนา) (ทางขวา) เพื่อนของเพื่อนผมซึ่งพักอยู่ที่ Sausalito, California กำลังทำสมาธิก่อนการทำเสียงบำบัด Joanna เป็นผู้ริเริ่ม Bring Harmony Home ทำงานรับเลี้ยงเด็กและนักบำบัดด้วยเสียง เราเลือกคอร์ส sound table therapy (โต๊ะบำบัดทางเสียง) กับ Joanna แล้วเราก็เดินทางจาก San Francisco ไปที่ Sausalito ข้ามสะพาน Golden Gate ไปทางเหนือ บ้านเล็กๆดูน่ารักอยู่แถวอ่าว Richardson มีเรือกยอร์ชและเรือบ้านจอดเรียงรายอยู่ในอ่าว และมีโกดังให้เห็นอยู่บ้างริมถนน
Joanna เป็นเพื่อนของ James ซึ่งให้ผมและมิโฮได้พักที่อพาร์ทเมนต์เก่าของเขาในย่าน Castro ของ San Francisco ที่แชร์กับพี่สาวของเธอ และยังมีหมาน้อยตัวเล็กๆน่ารักชื่อ Fast ซึ่งตัว James นั้นอยู่ Berlin ประเทศเยอรมัน ผมรู้สึกขอบคุณพวกเขามากที่ Host เรา ผมได้รู้จักกับ James ครั้งแรกตอนที่แสดงสด ดีเจ และ spoken word ที่ Jam Cafe สถานที่แสดงดนตรีสดในไทย James เป็นหนึ่งในผู้ชมในงานนั้นแล้วเราก็ได้ทักทายกันหลังการแสดงจบ แล้วเราก็ได้พูดคุยเกี่ยวกับ “Multidisciplinary Association for Psychedelic Studies” ซึ่ง James เองก็รู้จักองกรณ์นี้ที่อยู่ใน California ซึ่งสนับสนุนด้านการค้นคว้าเกี่ยวกับ Psychedelic ในเชิงวิทยาศาสตร์ซึ่งผมค่อนข้างสนใจอยู่
เริ่มต้นคอร์สบำบัดทางเสียงด้วยการทำสมาธิ แล้วก็ไปที่เตียงซึ่งมีลำโพงและซับวูเฟอร์ติดตั้งอยู่กับเตียง Joanna เล่นเพลง ambient จากลำโพงแล้วก็เล่นเครื่องดนตรีอย่าง chime, singing bowl เบาๆ และมีการพูดเพื่อนำเราไปสู่จุดที่ลึกขึ้นของสมาธิ เมื่อเราเสร็จจากคอร์สบำบัดทางเสียง เราก็นั่งพูดคุยกันเรื่องทั่วๆไป Joanna บอกว่าเธอย้ายมาจาก Maryland มาอยู่ที่ Bay Area แล้วเราก็ได้พูดถึงเรื่องค่าที่อยู่อาศัยใน San Francisco ซึ่งค่อนข้างสูงมากด้วย
คืนก่อนหน้า เรามาถึงที่ San Francisco แล้วก็ลองเดินไปตามถนนกับมิโฮเพื่อสำรวจดูเมือง เราเดินจากย่าน Castro มุ่งหน้าไปใจกลางเมืองท่ามกลางอากาศหนาวยามค่ำคืน ระหว่างทางเราได้พบกับสังคมคนไร้บ้านมากมายตลอดทางเท้า ผมได้ยินชายไร้บ้านคนหนึ่งตะโกนเหมือนเป็นกวีอะไรสักอย่างออกมาด้วย คนไร้บ้านที่ผมเห็นมีหลากหลายชาติพันธุ์ไม่ได้มีแต่ ยูโรอเมริกัน อเมริกันพื้นเมือง หรือแอฟริกันอเมริกัน ยังมีชาติพันธุ์อื่นๆอีก บางคนก็เป็นโรคจิตเภท บางคนติดสารเสพติด ผมได้ยินจากคนขับ Uber คนหนึ่งใน San Diego ว่าส่วนใหญ่จะติดเฮโรอีน ในด้านหนึ่งผมก็เห็นว่าพวกเขาให้การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และดูเหมือนพวกเขาจะมีบทบาทในสังคมของพวกเขาที่แตกต่างกันไปด้วย ผมไม่รู้ว่าเขาแบ่งหน้าที่กันยังไงแต่ก็ทำให้เห็นด้านที่น่าสนใจในสังคมอเมริกัน เมื่อเราเดินลึกเข้าไปใจกลางเมืองมากเกินไป มิโฮรู้สึกไม่ค่อยปลอดภัย เราต่างตัดสินใจเดินกลับไปยังย่าน Castro
See You (แล้วพบกัน)

ภาพถ่ายเมื่อ 21 มีนาคม 2019 บ้านมิโฮ เมืองซาโนะ จังหวัดโทชิกิ ประเทศญี่ปุ่น
มิโฮ (ทางซ้ายด้านหน้า) กับแม่ของเธอ โนริโกะ (ทางขวาด้านหน้า,อุ้มเด็กอยู่) และครอบครัวของเธอ ผมไปที่ญี่ปุ่นสองอาทิตย์และได้ไปเจอกับครอบครัวของมิโฮที่บ้านในจังหวัด Tochigi (โทชิกิ) เป็นครั้งแรกด้วย มิโฮกลับไปที่ญี่ปุ่นเพื่อเรียนเครื่องปั้นดินเผาสไตล์หมู่บ้าน Mashiko (มาชิโกะ) อย่างน้อยๆหนึ่งปี ครอบครัวของเธอใจดีกับผมมาก บางคนในครอบครัวของเธอ ได้มาเที่ยวที่กรุงเทพเมื่อไม่กี่เดือนที่แล้ว รวมทั้งแม่ของเธอด้วย ผมได้ช่วยมิโฮดูแลพวกเขาตอนมาเที่ยวด้วย ผมและมิโฮพักอยู่ด้วยกันที่บ้านของแม่เธอ วันนี้คือวัน Higan (ฮิกัง) ครอบครัวของเธอมาที่บ้านของแม่เธอเพื่อทานอาหารกลางวันร่วมกันบนโต๊ะ Kotatsu (โคทัตสึ) โต๊ะไม้ทรงเตี้ยในห้องรับแขก ซึ่งให้ความอบอุ่นเวลาเอาขาสอดเข้าไปเพราะมีฮีตเตอร์อยู่ข้างใต้ ผมไม่ได้มีโอกาสเจอพ่อของเธอเพราะว่าเขาเสียด้วยโรคมะเร็งช่องคอเมื่อสองปีที่แล้ว เธอบอกกับผมว่าพ่อของเธอมีบุคลิกคล้ายๆพระเซนของญี่ปุ่น ใจเย็น และคอยบอกเธออยู่บ่อยๆให้ทำสิ่งที่ต้องการจริงๆและมีสติกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ในห้องรับแขกมี Butsudan (บุตสึดัน) ศาลในบ้านขนาดเล็กที่มีรูปของพ่อเธออยู่ ในแทบทุกวันจะมีการเคารพด้วยการเอาข้าวและผลไม้มาวางไว้ที่ศาลนี้ จุดธูปเทียนแล้วก็ตี Rin (ริน) ชามกระดิ่งอันเล็กเพื่อแสดงความเคารพต่อสมาชิกในครอบครัวที่ลาลับไปแล้ว แล้วเราก็เดินทางไปที่วัดแถวๆบ้าน โดยขึ้นรถของแม่มิโฮไป เพื่อไปเคารพหลุมศพพ่อของเธอที่วัดด้วย
หลังจากพบปะกับครอบครัวเธอแล้ว ผมและมิโฮก็เข้าไปโตเกียวด้วยกัน แล้วก็กลับมา Tochigi อีกครั้งก่อนที่ผมจะแยกกลับมาที่กรุงเทพคนเดียว เรากอดกันและโบกมือลาก่อนที่รถบั๊สของผมจะมุ่งตรงไปที่สนามบินนาริตะ นับเป็นครั้งแรกที่เราจะต้องอยู่ห่างกันจริงๆจังๆ แต่ก็ขอบคุณที่เทคโนโลยีการ video call ช่วยให้เราเจอกันบ้างแม้จะแค่ผ่านทางหน้าจอ
ช่วงนั้นประเทศไทยมีการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก ในวันที่ 24 มีนาคม 2019 หลังจากการรัฐประหารในปี 2014 โดยกองทัพฝ่ายขวา ผมได้ติดตามการเลือกตั้งและพยายามจะโหวตให้กับพรรคอนาคตใหม่จากต่างประเทศแต่ก็ล้มเหลวไป พรรคการเมืองใหม่ที่พูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมและนำเสนอนโยบายที่เป็นประชาธิปไตยอย่างตรงไปตรงมาที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ในฐานะที่เกิดและเติบโตในประเทศนี้ ก็ยังไม่เคยได้เห็นการเมืองและเศรษฐกิจที่มีพัฒนาการที่ดีจริงๆ ผมรู้สึกว่าเราไม่เคยแก้ไขที่หัวใจของปัญหาจริงๆสักที ซึ่งผมมองว่ามันคือระบบการเมืองและเศรษฐกิจที่ควบคุมโดยกลุ่มฝ่ายขวา การผูกขาด และผู้มีอิทธิพล ซึ่งในใจลึกๆแล้วผมคิดว่ากลุ่มผู้มีอิทธิพลเหล่านี้ก็จะรักษาอำนาจของพวกเขาเอาไว้หลังการเลือกตั้งนี้ได้ผ่านพ้นไป ด้วยรัฐธรรมนูญปี 2017 ที่เขาได้จัดทำขึ้นเพื่อให้การรักษาอำนาจของพวกเขาชอบธรรมชึ้น หลังจากการเลือกตั้งผลโหวตก็ไม่ถูกเปิดเผยโดยทันที และในที่สุดวันที่ 5 มิถุนายน 2019 ประเทศไทยก็ได้ ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกอีก ซึ่งก็คือผู้นำการรัฐประหารในปี 2014 คนเดิม
ตอนผมอยู่ที่ญี่ปุ่นแม้ว่าประเทศจะอยู่ภายใต้รัฐบาลชาตินิยมฝ่ายขวาของ Abe (อาเบะ) อย่างน้อยญี่ปุ่นก็ยังมีระบบการเมืองและเศรษฐกิจที่พัฒนากว่ามากถ้าเทียบกับไทย ผมเห็นผู้คนในชนบทไม่ได้มีช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนห่างจนเห็นได้ชัดเหมือนในไทย รวมถึงระบบสวัสดิการที่ดีกว่า ยังไงก็ตามยังมีประเทศอีกหลายประเทศที่ไม่เคยได้อยู่ในสภาวะทางเศรษฐกิจที่ดีในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งด้วยรูปแบบการปกครองแบบเผด็จการด้วย ระบบโบราณที่ได้หมดยุคสมัยไปแล้ว เราไม่สามารถแก้ปัญหาหลายๆอย่างได้ด้วยโมเดลที่ไม่ค่อยเหมาะสมนี้โดยพื้นฐานแล้ว เราต้องแก้ที่ตัวระบบก่อน ผู้คนหลายๆคนยังทำงานอย่างหนักและยังคงจ่ายภาษีด้วยค่าแรงที่ต่ำ แต่ระบบเผด็จการก็ไม่ได้อนุญาติให้พวกเขาได้แบ่งปันความสะดวกสบายทางการเงิน ที่ชนชั้นนำผู้รักชาติได้เสพสม ซึ่งแท้จริงแล้วก็มาจากภาษีของประชาชน ระบบเผด็จการไม่ได้ใส่ใจกับความเห็นที่แตกต่างของผู้คน ด้วยทางเลือกอันน้อยนิดทางด้านการเงิน คนยากคนจนที่ไม่มีทางเลือกบางคนได้เลือกก่ออาชญากรรมหรือแม้แต่การฆ่าตัวตาย ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ในโลกที่เต็มไปด้วยความไม่เท่าเทียมนี้ ผมพยายามที่จะเป็นส่วนเล็กๆในการช่วยเพิ่มความเท่าเทียมให้กับผู้คนและสิ่งต่างๆ สำหรับผมแล้ว สามารถเริ่มต้นได้ง่ายๆด้วยการมองผู้คนและสรรพสิ่งด้วยความเท่าเทียมและเป็นธรรม ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ความเป็นไปได้หลายๆอย่างจะเกิดขึ้น พยายามไม่ตัดสินผู้คนว่าต่ำกว่า หรือสูงกว่า ดีกว่าหรือแย่กว่า โดยพยายามทำความเข้าใจก่อน
Available On
เครดิต
ภาพปก โดย QOTAROO
"Sister Calling" (น้องสาวโทรมา)
เสียงร้อง โดย พิมพ์พร เมธชนัน
คองก้า โดย ญาณิกา เลิศพิมลชัย
"Rest" (พัก)
เสียงร้อง โดย ธนาธย์ รสานนท์
ร่วมร้อง โดย พิมพ์พร เมธชนัน
กีตาร์โปร่ง โดย ศุภกร บัวยังตูม
"Transcendence" (ข้ามผ่าน)
เสียงพูดตอนเริ่ม โดย Joanna Sullivan
"See You" (แล้วพบกัน)
เสียงร้อง โดย Yellow Fang
บันทึก ผสมเสียง และมาสเตอร์ ที่ Soundsuite Studio, กรุงเทพ และ DBS Studio, กรุงเทพ
เผยแพร่เมื่อ : 24 มิถุนายน 2019